บล็อกความรู้และความไม่รู้ เรื่องไฟแนนซ์ สินเชื่อรถยนต์ การจัดไฟแนนซ์รถมือสอง การจำนำรถ และเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน + รถ กับผมนาย Hidetoshi มือปราบไฟแนนซ์ ที่พร้อมมาช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกคนจากประสบการณ์ตรง 100%

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


ในการเลือกหาผู้ค้ำประกันที่เหมาะสมนั้น นอกจาก “ใจ” ที่ผู้ค้ำประกันต้องมีให้เราแล้ว “ตังค์” คือส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ครับ

คุณสมบัติของผู้ค้ำประกันรถยนต์ที่ดี


ทรัพย์สินจำเป็นอย่างหนึ่งที่ผู้ค้ำประกันต้องมีคือ อสังหาริมทรัพย์ นั่นเอง คำว่า “อสังหาริมทรัพย์” นี้ จะเป็นประเภทไหนก็ได้ทั้ง บ้าน คอนโด หรือที่ดินเปล่า เพียงแต่ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเท่านั้น กล่าวคือ


คำว่า “เจ้าของกรรมสิทธิ์” คือผู้ที่มีชื่ออยู่หลังโฉนดตัวจริง ซึ่งจะตรงกับโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิใดๆเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ทางสำนักงานที่ดินจะสลักไว้ด้านหลังโฉนด เช่น เมื่อมีการซื้อ , ขาย , จำนอง , ขายฝาก หรือยกให้ ผู้ทำนิติกรรมจะต้องไปจดแจ้งต่อสำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ที่ดินก็จะทำการพิมพ์รายการดังกล่าวลงบนหลังโฉนดทั้งสองฉบับ ให้มีข้อความถูกต้องตรงกัน แล้วมอบฉบับหนึ่งแก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์เก็บรักษาไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่ง ทางสำนักงานที่ดินจะเป็นผู้เก็บรักษาไว้เอง

วิธีการตรวจสอบว่ามีการแก้ไข หรือปลอมแปลงเอกสารหรือไม่


     เบื้องต้นก็คือ สังเกตดูว่า โฉนดที่ดินที่เราได้รับมานั้น มีรายละเอียดตรงกับฉบับสำนักงานที่ดินหรือไม่โดยสามารถไปขอคัดโฉนดจากสำนักงานที่ดินแล้วเอามาเปรียบเทียบกันได้เลย ถ้าข้อมูลไม่ตรงก็แสดงว่าเราได้รับเอกสารปลอมเข้าให้แล้ว


เจ้าบ้านกับเจ้าของไม่เหมือนกันนะครับ


     ข้อหนึ่งที่คนส่วนมากมักเข้าใจผิด คือคิดว่า “เจ้าบ้าน” กับ “เจ้าของกรรมสิทธิ์” คือคนๆเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนขอทำความเข้าใจไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่ใช่เสมอไปนะครับ และความมีน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือ ก็ต่างกันด้วยคำว่า “เจ้าของกรรมสิทธิ์” คือบุคคลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

     ส่วนคำว่า “เจ้าบ้าน” เป็นเรื่องทางทะเบียนราษฎร ของสำนักงานเขต หรือเทศบาล หรืออำเภอต่างๆ ความเป็นเจ้าบ้านนี้ เกี่ยวข้องกับการดูแล จัดการ บรรดาผู้อาศัยในบ้าน และทรัพย์สินต่างๆภายในบ้าน ซึ่งบางที “เจ้าของกรรมสิทธิ์” อาจใส่ชื่อตัวเองเป็น “เจ้าบ้าน” ก็ได้ หรืออาจใส่ชื่อคนอื่นให้เป็น “เจ้าบ้าน” แทนตัวเองก็ได้ ไม่จำเป็นว่า “เจ้าของกรรมสิทธิ์” จะต้องเป็น “เจ้าบ้าน” แต่เพียงผู้เดียว

ผู้ค้ำประกันที่ดีที่ไฟแนนซ์ชอบคือ "เจ้าของ" ไม่ใช่ "เจ้าบ้าน"


     เมื่อกล่าวถึงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินแล้ว “เจ้าของกรรมสิทธิ์” จะถือว่ามีทรัพย์สินประเภท “อสังหาริมทรัพย์” ส่วน “เจ้าบ้าน” จะถือว่ามีทรัพย์สินประเภท “สังหาริมทรัพย์” เท่านั้นหลายท่านอาจจะกำลังมีคำถามว่า แล้วผู้เขียนจะมาอธิบายให้ยืดยาว และไม่เข้าใจ ทำไม? ก็เพราะว่า การจะเลือกคนมาเป็นผู้ค้ำประกันที่ดีนั้น ต้องเป็นคนที่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จึงจะดีที่สุด ไม่อยากให้เข้าใจผิดคิดว่าขอแค่เป็นเจ้าบ้านตามทะเบียนบ้านก็พอ

     เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์หรือบริษัทไฟแนนซ์ เขาจะพิจารณาความน่าเชื่อถือจากอสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับแรก และถ้าหากความน่าเชื่อถือมันไม่พอแล้ว สินเชื่อของเราก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ... หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราเองมีแต่เสียกับเสียนะครับ เสียทั้งแผน เสียทั้งเวลา และจะต้องปวดหัวหาผู้ค้ำประกันเพิ่มอีกในมุมมองของผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์หรือบริษัทไฟแนนซ์ เห็นว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ ย่อมมีทรัพย์สินที่สามารถเป็นหลักประกันการได้รับชำระหนี้ หรือการได้ “เงินลงทุน” คืน (คือเงินส่วนที่เหลือของราคารถยนต์ หลังจากหักเงินดาวน์แล้ว ซึ่งในภาษาพูดเรียกว่า “ยอดจัด”) จากการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ แน่นอนว่า หากเราไม่จ่ายค่างวดตามสัญญา ไฟแนนซ์ย่อมต้องฟ้องคดีต่อศาล และบังคับคดียึดทรัพย์สินเหล่านี้ออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้จนกว่าจะครบจำนวนต่อไป

ถ้าเป็นเรา ก็คงเลือกยึดบ้าน , ยึดคอนโด , ยึดที่ดิน...... 
ดีกว่ายึดทีวี , ตู้เย็น หรือกระทะไฟฟ้า จริงมั้ยครับ ?

     ที่เล่ามานี้คือคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันที่ควรต้องมี มิเช่นนั้นแล้ว ความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิต ก็จะลดน้อยลง อาจต้องเพิ่มผู้ค้ำประกันเป็นสองคน หรือสามคนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อให้กับเราอย่างง่ายดายแล้วล่ะก็ หาผู้ค้ำประกันที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริงๆเท่านั้นถึงจะชัวร์ที่สุด จะได้ไม่ต้องมานั่งลุ้นให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจเล่น

4 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าคนค้ำไม่มีอสังหาริมทรัพย์แล้วแต่ไฟแนนช์อนุมัติให้พอผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่างวดจนกระทั่งรถโดนยึดแล้วมาทวงกับคนค้ำแล้วแบบนี้คนเขาจะเอาอะไรจากคนค้ำคะเพราะไม่มีอะไรจะยึด

    ตอบลบ
  2. น้าผ่อนรถอยู่แต่ได้สิทออกใหม่จากโตโยต้าเลยให้น้าใช้สิทแล้วเราเป็นญาติค้ำประกันได้มั้ยคะ

    ตอบลบ
  3. เราขอให้แกออกให้โดยเราค้ำแต่ทำไมไฟแนนถึงจะเอาแฟนน้ากู้ร่วมทั้งๆที่ี่เราจะค้ำประกัน

    ตอบลบ
  4. เคยทราบมาว่าใครก้อได้ที่ค้ำประกันแค่มีรายได้

    ตอบลบ