บล็อกความรู้และความไม่รู้ เรื่องไฟแนนซ์ สินเชื่อรถยนต์ การจัดไฟแนนซ์รถมือสอง การจำนำรถ และเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน + รถ กับผมนาย Hidetoshi มือปราบไฟแนนซ์ ที่พร้อมมาช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกคนจากประสบการณ์ตรง 100%

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556


ถึงตอนนี้ ผู้เขียนขอทำความเข้าใจและสรุปเรื่องราวที่ได้บอกเล่ามาทั้งหมดสามบทความ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจสั้นๆ ดังนี้ครับ



  1. เราควรประเมินตัวเองเสียก่อน ว่าเราเหมาะที่จะยื่นขอสินเชื่อรถยนต์กับผู้ให้บริการสินเชื่อหรือบริษัทไฟแนนซ์ไหนดี เพื่อให้ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้แบบครั้งเดียวผ่านฉลุย
  2. หากเราเตรียมเงินดาวน์ไว้ไม่มากพอ ให้เรามองหา “ว่าที่ผู้ค้ำประกัน” ไว้รอเลย
  3. ในการเลือก “ว่าที่ผู้ค้ำประกัน” นั้น ให้มองคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราโดยสนิทใจ ไว้ใจเราและต้องมีกรรมสิทธ์ในอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ (อย่างน้อยหนึ่งคน)

    เพียงเท่านี้ ไม่ว่าเราจะเลือกขอสินเชื่อรถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ไหนก็ตาม คำตอบทีได้ย่อมเป็นข่าวดีแน่นอนครับ..รับรองไม่มีแห้ว พูดถึงเรื่องคนค้ำก็อดนึกถึงเรื่องของเพื่อนผมกับแฟน(เก่า)ไม่ได้ จึงอยากเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์แก่คนที่กำลังจะตัดสินซื้อรถได้อ่านกัน ขอใช้ชื่อเรื่องนี้ว่า "รถ ความรัก และคนสองคน"


“อย่าเช่าซื้อรถยนต์ให้ใครเด็ดขาด”

ก่อนจะข้ามขั้นตอนการเตรียมตัวสำหรับผู้ต้องการซื้อรถยนต์เบื้องต้นนั้น ผู้เขียนเกิดนึกอะไรขึ้นได้ระหว่างกำลังเขียนบทความต่อไป ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรแชร์ประสบการณ์ให้ผู้อ่านได้รับทราบ จึงอยากจะขอเตือนไว้ดังๆตรงนี้เลยว่า “อย่าเช่าซื้อรถยนต์ให้ใครเด็ดขาด” ต่อให้เป็นแฟนกันก็ตามครับ


เรื่องมันมีอยู่ว่า...


“เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนเก่าคนหนึ่ง เพื่อปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการค้างค่างวดบริษัทไฟแนนซ์มีชื่อแห่งหนึ่ง เรื่องราวมันเริ่มต้นจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว

เพื่อนผมคนนี้คบกับแฟนมาได้ซักพัก จึงตกลงปลงใจย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันที่คอนโดของเพื่อนผม ขณะนั้นยานพาหนะที่ใช้มีเพียงมอ’ไซด์คู่ใจ ที่ผู้ใช้ต้องตากแดด ตากฝนและทนร้อน แต่มันไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเพื่อนผมเลยซักนิด เนื่องจากเป็นคนชอบขี่มอ’ไซด์เหมือนกัน แต่สำหรับผู้หญิงนั้นมันคือความยากลำบากในการเดินทาง ไม่ว่าจะเหงื่อออก เครื่องสำอางค์เลอะ หมดสวย หรือแม้กระทั่งความติดหรู และความมีค่านิยมผิดๆเพื่อแสดงออกถึงฐานะทางสังคม(ปลอมๆ)

เมื่อทนต่อแรงเสียดทานไม่ไหว เพื่อนผมจึงยอมซื้อรถยนต์ให้แฟนใช้ โดยใช้ชื่อตัวเองเป็นผู้เช่าซื้อและมีญาติอีกสองคนเป็นผู้ค้ำประกันให้ ส่วนค่างวดนั้นแฟนเป็นคนจ่ายเอง เรื่องราวดำเนินไปด้วยดี เพื่อนผมยังคงใช้มอ’ไซด์เหมือนเดิม ส่วนรถยนต์ให้แฟนใช้คนเดียว นานๆทีจึงจะได้ขับบ้าง

จนวันหนึ่ง เมื่อทั้งสองต้องแยกกันไปทำงานคนละจังหวัด ด้วยหน้าที่การงานไม่เหมือนกัน แฟนเพื่อนผมย้ายไปทำงานจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ส่วนเพื่อนคนนี้ยังคงอยู่กทม. เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ค่อยๆคลี่คลายลง จนสุดท้ายทั้งคู่ไม่อาจฝืนต่อสมการความรักที่ว่า รักแท้แพ้ระยะทาง

หลังจากเลิกรากันไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน เพื่อนผมจึงได้รับจดหมายทวงหนี้ค่างวดรถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์ ที่ส่งถึงผู้เช้าซื้อ และผู้ค้ำประกันอีก 2 คน แต่พยายามติดต่อไปยังแฟนเก่าเท่าไรก็ไม่สามารถติดต่อได้ แม้แต่เดินทางไปตามที่ที่ทำงานก็ยังไม่พบ ทราบเพียงว่าได้ลาออกไปแล้ว

ปัญหาทุกอย่างมันจึงตกอยู่แก่เพื่อนผมคนเดียวเลย คำถามคือ แล้วจะเอายังไงต่อดี ?

สำหรับกรณีนี้ผมแนะนำว่า อย่างน้อยควรประคองตัวไว้ ด้วยการจ่ายค่างวดแทนไปบ้างบางส่วน อย่าให้ค้างเกิน 3 งวดติดกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเราเองนั่นแหละที่จะเดือดร้อน อย่าลืมว่าชื่อผู้เช่าซื้อตามสัญญาก็ชื่อเรา ผู้ค้ำประกันก็ญาติเรา หากถูกบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและถูกฟ้องคดีขึ้นมาจะแก้ปัญหายากกว่าเดิม ยังไงก็ต้องยอมจ่ายไปก่อน ระหว่างนี้ให้สืบหาที่อยู่ปัจจุบันจากทางบ้านของฝ่ายหญิงจะดีที่สุด รวมทั้งเพื่อนๆด้วย เล่าความเดือดร้อนให้ฟังเลย ถามตรงๆบอกตรงๆ ใครไม่เห็นใจเราก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

หากตามตัวเจอแล้วมี 2 ทางให้เลือกครับ


อย่างแรก 

    ให้เอารถคืนมาด้วยตัวเองเลย ในฐานะที่เราเป็นคนรับผิดชอบตามสัญญาเช่าซื้อ ถือเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง อย่าใจอ่อนต่อเหตุผลใดๆทั้งสิ้น จำไว้ว่า “เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด” หลังจากยึดรถคืนมาได้แล้ว ให้พิจารณาเอาว่าจะทำอย่างไรต่อดี ระหว่าง เอารถคันนั้นคืนบริษัทไฟแนนซ์ไปซะ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาจมีค่าเสื่อมราคาหรือค่าเสียหายตามมาภายหลังก็เป็นได้ หรือ เอารถคันนั้นไว้ใช้เองโดยจ่ายค่างวดที่ค้างอยู่ให้ทันงวดเป็นปกติ แต่ย่อมต้องมีค่าเบี้ยปรับล่าช้าและค่าติดตามเพิ่มขึ้นมาจากค่างวดปกติอย่างแน่นอนและอาจเป็นจำนวนสูงด้วยหากมีการค้างชำระมาหลายงวดแล้ว ทั้งสองทางมีแต่เสียกับเสีย อยู่ที่ว่า จะเสียมากเสียน้อยเท่านั้นเองครับ

อย่างที่สอง 

    แจ้งให้ทางบริษัทไฟแนนซ์ไปติดตามยึดรถคันนั้นคืนมาเองเลย แต่กรณีอาจถูกเมินเฉยหรือไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากถือเป็นหน้าที่ของผู้เช่าซื้อโดยตรงที่จะต้องรับผิดชอบติดตามรถคันนั้นคืนมาจากบุคคลอื่นหรือบุคคลภายนอก(และในสัญญาเช่าซื้อเกือบทุกฉบับจะระบุชัดเจนว่า ผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธินำรถคันเช่าซื้อไปให้บุคคลอื่นใช้โดยเด็ดขาด)เพราะฉะนั้น บริษัทไฟแนนซ์เขาจะไม่รับผิดชอบเป็นธุระให้ แล้วการถูกเมินเฉยหรือถูกปฏิเสธนี้เป็นผลเสียแต่เฉพาะฝ่ายเราด้วยนะครับ ยิ่งนานวันหากไม่สามารถติดตามรถคันเช่าซื้อมาคืนได้ ก็จะค้างค่างวดไปเรื่อยๆ และเสียค่าเบี้ยปรับล่าช้า รวมถึงค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นด้วย น่าจะจนกว่าบอกเลิกสัญญาและฟ้องศาลนั่นแหละครับ เมื่อศาลมีคำพิพากษาเมื่อไร เขาถึงจะติดตามยึดรถคันเช่าซื้อคืนอย่างจริงจัง กว่าจะถึงตอนนั้น เราโดนค่าเสียหายบานแน่นอน !!”

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น