บล็อกความรู้และความไม่รู้ เรื่องไฟแนนซ์ สินเชื่อรถยนต์ การจัดไฟแนนซ์รถมือสอง การจำนำรถ และเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน + รถ กับผมนาย Hidetoshi มือปราบไฟแนนซ์ ที่พร้อมมาช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกคนจากประสบการณ์ตรง 100%

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


เมื่อเราสามารถมองตัวเองออกแล้วว่า เราเหมาะสมที่จะยื่นขอสินเชื่อรถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ไหนดี ต่อมา ควรต้องพิจารณาจากเงินในกระเป๋าเป็นอันดับสองครับ

ผู้ค้ำประกันสินเชื่อรถยนต์


งินดาวน์นี้ขอให้เป็นเงินเย็นนะครับ  ไม่ได้หมายถึงให้ไปเอาเงินเยนของญี่ปุ่นมาจ่ายนะครับ แต่หมายถึง เงินที่มีเก็บอยู่แล้วเพื่อใช้ทำอะไรซักอย่าง ไม่ใช่เงินที่ไปหยิบยืมเขามาเพื่อจะออกรถสนองความต้องการชั่ววูบ และควรไม่ใช่เงินที่กล้าไปแบมือขอใครเขามา แม้ว่าคนๆนั้นจะเป็นพ่อแม่เราก็ตาม (อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผู้เขียนว่า รถของเรา เราซื้อเองดีกว่ามั้ย...)


กลับมาว่ากันต่อเรื่องเงินดาวน์ เงินจำนวนนี้ หากมีมากพอก็จะสามารถจัดไฟแนนซ์ได้โดยไม่ต้องใช้ผู้ค้ำประกัน กล่าวคือ เมื่อเราจ่ายเงินดาวน์ไปแล้วส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ ทำให้ราคาส่วนที่เหลือ น้อยกว่าราคาตลาดอยู่พอสมควร

       ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์หรือบริษัทไฟแนนซ์จะคำนวณความเสี่ยงโดยพิจารณาจากเงินลงทุนจำนวนนี้ ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ได้รับ และระยะเวลาผ่อนชำระ ประกอบกับเครดิตส่วนตัวของผู้เช่าซื้อหรือผู้กู้เป็นสำคัญ หากความเสี่ยงพอรับได้ สินเชื่อรถยนต์ของเราก็จะได้รับการอนุมัติ ต่อมาหากเราไม่มีเงินดาวน์เยอะพอล่ะ จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ?


เงินดาวน์รถไม่พอทำไงดี?


       ประโยคเจ็บๆที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง” คือคำตอบครับ อันว่าผู้ค้ำประกันนี้ ผู้เขียนขอให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ “ด้านจิตใจ” มาเป็นอันดับหนึ่งเลยดีกว่า ใครก็ตามที่เราคิดว่า เค้าสามารถไว้ใจเราได้ และเรายินดีที่จะซื่อสัตย์ต่อเค้าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะความไว้ใจกันนี้ เป็นน็อตตัวเดียวที่จะยึดเราและเค้า ให้ประสานรวมกันเป็นสัญญาเช่าซื้อฉบับเดียว หากไม่ไว้ใจกันแล้ว คงไม่มีใครยอมค้ำประกันให้ใครแน่นอน

เรื่องความไว้ใจกันนี้ ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงเรื่องผู้ค้ำประกันเยอะครับ หลายต่อหลายครั้ง ที่ผู้ค้ำประกันต้องมานั่งใช้หนี้แทนผู้เช่าซื้อ ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราวอย่างนี้แล้วกันครับ
“เขา” เล่าให้ฟังว่า...


เรื่องเล่าอันแสนเจ็บปวดของผู้ค้ำ


ทีอีตอนที่มันมาขอให้เราช่วยค้ำฯให้นี่ เช้าถึงเย็นถึง ดีกับเราทุกอย่าง ก่อนหน้านั้น มันโทรมาเป็นระยะๆ พูดจาดี รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะไม่ทำให้เราเดือดร้อนเด็ดขาด แต่พอเริ่มค้างค่างวดเท่านั้นแหละ เราโทรไปมันไม่ค่อยจะรับสายแล้ว ไม่ว่างมั่ง ติดธุระไม่สะดวกคุยมั่ง

ครั้นต่อมา ไฟแนนซ์ฟ้องทั้งมัน ทั้งเราในฐานะผู้ค้ำฯ พอไปเจอกันที่ศาล มันยังรับปากจะรับผิดชอบเอง จะเคลียร์ให้จบในชั้นศาล “พี่ไม่ต้องห่วง... ผมไม่ให้พี่เดือดร้อนแน่นอน เงินน่ะมีครับ แต่ผมไม่อยากจ่าย แม่งคิดทั้งดอกเบี้ย ทั้งค่าปรับ เยอะเกิ๊น ! พวกมันหากินกันอย่างงี้นี่เองไอ้สาดดด... เดี๋ยวผมจะคุยกับศาล เพื่อนผมเป็นทนาย รู้จักผู้พิพากษาหลายคน แล้วเดี๋ยวผมจะฟ้องกลับมันด้วยคอยดู” นั่นเป็นประโยคสุดท้ายที่ “เขา” คนนี้ ได้ยินจากคนที่เขาคิดว่าไว้ใจได้

       ณ.ขณะที่เล่าเรื่องราวให้ผู้เขียนฟังอยู่นี้ “เขา” ถูกไฟแนนซ์ยึดบ้านไปแล้ว และกำลังจะมีการขายทอดตลาดบ้านของเขา เพื่อใช้หนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกัน(ลูกหนี้ร่วม)ตามคำสั่งศาล

       แต่นั่นไม่ใช่ หายนะ อย่างเดียวที่เกิดขึ้นนะครับ ก่อนหน้านั้น เมื่อเมียของเขาทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงเกิดมีปากเสียงกัน ทะเลาะกันหนัก ถึงขนาดเก็บข้าวเก็บของ และหอบลูกหนีออกจากบ้านไปแล้ว !


เป็นผู้ค้ำใจต้องนิ่ง


       เมื่อฟังจบ ผู้เขียนไม่รู้จะพูดยังไงดีครับ ได้แต่นิ่งเงียบ ก่อนจะเอ่ยออกไปคำเดียวว่า อิ๊บอ๋าย !?! ที่บอกเล่าเรื่องราวมาทั้งหมดถึงตรงนี้ เพื่อจะขอย้ำว่า ความไว้ใจกัน เชื่อใจกัน สำคัญที่สุด ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ค้ำประกันนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ครับ ไม่ว่าจะญาติ เพื่อน ผู้ร่วมงาน หรือแฟน ได้ทั้งนั้นไม่จำกัด เว้นแต่ สามี,ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย(จดทะเบียนสมรสกันแล้ว)

เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้... ลองมองดูรอบๆตัวเองซักนิด หากมองเห็นใครที่พร้อมจะเสี่ยงเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อเรา ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร ถือว่าเราโชคดีมากแล้วครับ

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงคุณสมบัติข้อแรก สำหรับการกรองตัวเลือกที่เหมาะสม ที่จะไปติดต่อ, ขอร้องให้มาเป็นผู้ค้ำประกันของเรา บทความต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันที่ดี เพื่อให้ผู้อ่านได้กรองตัวเลือกให้เหลือน้อยลงไปอีก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น